top of page
รูปภาพนักเขียนETS KMUTT

ปรับบทบาท เปลี่ยนมุมมอง เมื่อผู้สอนไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้

อัปเดตเมื่อ 30 พ.ย. 2564



จะเป็นอย่างไรเมื่อบทบาทผู้สอนในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) คอยให้ Feedback ผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ และให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ โดยเน้นที่การออกแบบ "กระบวนการ" เพื่อเปลี่ยนแปลง (Change) ผู้เรียน ที่เราเรียกว่า “การศึกษาเชิงผลลัพธ์ Outcome-based Education (OBE)” หลักสำคัญของ OBE คือ ต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ โดยกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้ และผู้เรียนทุกคนต้องบรรลุตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนด ไม่ว่าจะใช้เวลา หรือวิธีการใดในการเรียนรู้ก็ตาม


 

บทบาทผู้สอนในฐานะผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) จาก Dead Poets Society (1989)



Dead Poets Society (1989) ภาพยนตร์สุดคลาสสิคที่เล่าเรื่องการเรียนการสอนของครูคีตติ้ง (Mr. Keating) ซึ่งใช้รูปแบบการสอนที่แตกต่างไปจากเดิม ชวนให้ผู้เรียนได้คิดและตั้งคำถามด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสอนการใช้ชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ สวมบทบาทเป็นผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยการเรียนรู้นั่นเอง (Instructors as Facilitators) นับเป็นภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คน ทำให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ในการเป็นมากกว่าผู้สอน หากท่านใดมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่สร้างแรงบันดาลใจในการสอนที่อยากแนะนำ สามารถ Comment แลกเปลี่ยนกันได้ที่ท้ายบทความ


 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีจะช่วยผู้เรียนและผู้สอนได้อย่างไร

การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ชัดเจนที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติและผู้สอนสามารถวัดได้จะทำให้การศึกษาเชิงผลลัพธ์ หรือ OBE มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน ลองทำ และได้รับ Feedback อย่างเพียงพอ ก่อนที่จะมีการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ต่อไป

ไม่เป็นไร...ถ้าผู้เรียนแต่ละคนใช้เวลาเรียนรู้ไม่เท่ากัน ไม่เป็นไร...ถ้าผู้เรียนแต่ละคนใช้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เพราะสิ่งสำคัญ คือ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ ผ่านการศึกษาเชิงผลลัพธ์ หรือ OBE

ท้ายที่สุด ผลลัพธ์การเรียนรู้นี้จะทำให้ผู้เรียนทราบว่าผู้สอนคาดหวังให้ผู้เรียนต้อง "ทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น" เมื่อจบบทเรียนแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้ศักยภาพและได้พัฒนาตนเองในบทเรียนต่อ ๆ ไป


 

ทำไมต้อง OBE?

  • OBE จะทำให้เรารู้ว่า “เป้าหมาย” หรือ “ผลลัพธ์” ของการให้การศึกษานั้นคืออะไร

  • OBE สามารถวัดได้ ว่าเรากำลังทำอะไร ทำได้ดีหรือไม่ และจะต้องปรับปรุงการศึกษาของเราอย่างไร

  • OBE ทำให้เราหันกลับมามองที่ผู้เรียน ของเราเป็นสำคัญ และช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นอนาคตตัวเองชัดขึ้น

  • OBE ทำให้เราทำงานเป็นทีม ทุกส่วน ของการศึกษาจะมีบทบาทและหน้าที่เชื่อมโยงถึงกัน มุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกัน

มจธ. กำลังจัดการศึกษารูปแบบใหม่ KMUTT Micro-Credentials เพื่อรับรองและพัฒนาความสามารถที่เฉพาะเจาะจงของผู้เรียน โดยการออกแบบการศึกษาภายใต้กรอบแนวคิดของ OBE


 

เนื่องจากการศึกษาเชิงผลลัพธ์ หรือ OBE เน้นการประสบความสำเร็จตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนอาจใช้เวลาเรียนไม่เท่ากัน ผู้สอนจึงมีหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และได้แสดงออกซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ตามที่ตั้งไว้ นับเป็นการปรับบทบาท เปลี่ยนมุมมองในการเป็นผู้สอนในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง



ดู 464 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page